สำนักงานเทศบาลตำบลป่าสัก หมู่ที่ 4 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 51000  โทรศัพท์  0 5353 7478, 0 5358 4773, 0 5359 7174 (ตู้สาขา)  โทรสาร  0 5358 4799

แจ้งเรื่องร้องเรียนสายผู้บริหาร

ภารกิจผู้บริหาร













1
ศูนย์บริการนวดเพื่อสุขภาพตำบลป่าสัก,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th

เทศบาลตำบลป่าสัก ได้จัดตั้งอาคารศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นตำบลป่าสัก โดยได้จัดทำเป็นศูนย์บริการนวดเพื่อสุขภาพตำบลป่าสัก เพื่อให้บริการนวดเพื่อสุขภาพแก่ประชาชนที่สนใจ เป็นกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ และเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย และชุมชนยังสามารถนำสินค้ามาจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกันจะเป็นทุนหมุนเวียนในชุมชน และดึงให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงมาใช้บริการ ณ บริเวณบ้านใหม่จตุจักร หมู่ที่ 18 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

การเดินทางมาใช้บริการ : การเดินทางไปศูนย์บริการนวดเพื่อสุขภาพตำบลป่าสัก เดินทางจากอำเภอเมืองลำพูน ใช้ทางหลวงสายลำพูน-ดอยติ เส้นทางหมายเลข 114 กลับรถแยกป่าสัก ตรงไปตามเส้นทางประมาณ 300 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางบ้านใหม่จตุจักร (ตลาดจตุจักร ลำพูน) สังเกตุศูนย์บริการนวดเพื่อสุขภาพตำบลป่าสักจะอยู่ด้านขวาของถนน ตรงข้ามกับร้านสหพานิช เชียงใหม่ จำกัด สาขาลำพูน

05 ตุลาคม 2563

กู่ม้าโก้ง,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th

        กู่ม้าโก้ง ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยม้าโก้ง หมู่ที่ ๘ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีตำนานเกี่ยวกับชื่อของหมู่บ้านที่สืบต่อกันมาว่า มีสองสหายชื่อขุนเริ่มกับขุนทา ปลูกบ้านอยู่คนละฟากภูเขา ทั้งสองคนให้สัญญาต่อกันว่า ถ้ามีลูกเป็นลูกผู้หญิงและชายจะให้แต่งงานกัน ขุนทามีลูกชายตั้งชื่อว่าบุญทา ส่วนขุนเริ่มมีลูกสาวมีชื่อว่าเกี๋ยวคำ เมื่อทั้งสองโตเป็นหนุ่มสาวก็มีโอกาสพบกันและเกิดความรักต่อกันและได้หมั้นหมายกันไว้ บุญทาขี่ม้าโก้ง (ม้าพื้นเมืองสีพื้นน้ำตาลมีสีขาวเป็นจุด ๆ บนตัว) ไปเที่ยวหาเกี๋ยวคำ อยู่เป็นประจำวันหนึ่งขุนเริ่มพาบริวารออกไปล่าสัตว์ได้งูเหลือมยักจึงนำมาทำอาหารเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน หลังจากกินอาหารก็เกิดอาเพศ ฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหวหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ถล่มลง เป็นเวลาเดียวกับที่บุญทาเดินทางมาถึง จึงได้ขี่ม้าโก้งมาถึงจึงถอดแหวนหมั้น บริเวณนั้นปัจจุบันเรียกว่า หนองแหวน บุญทาขี้ม้าหนีต่อมาถึงภูเขาอีกลูกหนึ่งเขาจึงเหลียวกลับไปดูปัจจุบันเรียกว่า ดอยแล ความกลัวตายจึงขี่ม้าจนมาถึงช่องเขาอีกลูกหนึ่งม้าบอกเขาว่า “ปอเต๊อะ” (พอแล้ว) ที่แห่งนั้นปัจจุบันเรียกว่า กิ่วปาเตาะ เขาขี่ม้าหนีไปตามลำห้วยอีกแห่ง ด้วยเหตุที่เขาหนีภัยหนีเคราะห์ร้ายมาจนถึงหุบเขาใหญ่ที่มีป่าไม้ร่มเย็น ม้าบอกเขาว่าตอนนี้เท้าของม้าร้อนป่านดั่งไฟลำห้วยนั้นจึงถูกเรียกว่า ห้วยไฟ บุญทาได้ตีม้าให้วิ่งหนีต่อไปอีกถึงลำห้วยใกล้ๆภูเขาเล็กๆแห่งหนึ่ง ม้าเหนื่อยมากจนขาดใจตายบริเวณลำห้วย ปัจจุบันเรียกว่า ห้วยม้าโก้ง ในบริเวณนี้เมื่อมีการอพยพของผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น จนสามารถตั้งเป็นหมู่บ้านได้ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยม้าโก้ง”


การเดินทางมาเที่ยว : ห่างจากตัวอำเภอเมืองลำพูนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงสายเลี่ยงเมืองลำพูน - ป่าซาง และเส้นทางหลวงจังหวัดสายบ้านหลุก – บ้านบูชา

 

อ้างอิง

http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=513396&random=1499071378015

12 กรกฎาคม 2560

พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th

        


        พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุ หมู่ที่ ๗ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นพระธาตุอินทร์แขวนจำลองแห่งจังหวัดลำพูน ในส่วนของเรื่องราวของการเริ่มสร้างองค์พระธาตุอินทร์แขวนนั้น แต่เดิมครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระบาทห้วยต้ม ได้นิมิตว่าบนเนินเขาเล็กๆแห่งหนึ่งในลำพูนมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดดอย เลยให้ชาวบ้านช่วยกันหาและใช้เวลาอยู่ประมาณ ๒ - ๓ ปี ก็ได้มาพบรอยพระพุทธบาทบนเนินเขาเล็กๆ ที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกกันว่า ดอยถ้ำหิน และยังพบความมหัศจรรย์ หินที่ซ้อนกันอยู่บนเนินเขาที่น่าจะหลุดออกจากกันแล้วหล่นจากยอดเนินเขาแต่ก็ซ้อนกันอยู่อย่างไม่น่าเชื่อและไม่หล่นลงมา และชาวบ้านที่นี่พาวัวขึ้นมาเลี้ยงบนเขานี้เป็นประจำ มีคนเล่าว่าเคยผลักหินให้ร่วงลงไปผลักเท่าไหร่ๆก็ไม่หล่น ได้ใช้และเอาไม้คานมางัด ใช้คน ๑๐ คนก็ไม่สามารถงัดไม่ไป จึงเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วสร้างพระธาตุเจดีย์องค์เล็กๆบนหินก้อนบน เมื่อ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

         ดอยแห่งนี้มีความสำคัญ คือ บนลานใกล้ๆกับก้อนหินใหญ่มีรอยหินที่เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทประทับอยู่ จากนั้นจึงได้มีการสร้างองค์พระธาตุขึ้นบนก้อนหิน ลูกด้านบน ซึ่งได้จำลองลักษณะของพระธาตุอินทร์แขวนมาจากที่พม่า เป็นหินที่ซ้อนทับกันอย่างมหัศจรรย์ และชาวบ้านบางคนก็ได้เล่าให้ฟังด้วยว่า เมื่อก่อนที่จะล้อมเขตห้าม เข้า ก็มีคนเดินไปใกล้หิน ๒ ก้อนนั้นและสามารถมองเห็นช่วงว่างระหว่างก้อนหินแต่ก็รู้สึกแปลกใจที่หินซ้อนกันอยู่ อย่างนี้มานานเพราะก้อนหินทับกันแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่พอล้อมเขตห้ามเข้าแล้ว เราจะมองไม่ค่อยเห็นช่องว่าง นอกจากจะเดินหามุมบนเนินเขา มุมที่พอเหมาะก็จะเห็นช่องทะลุนี้ได้บ้าง ทางซ้ายมือของพระธาตุ ก็จะเห็นมีรอยพระ พุทธบาทตรงกับนิมิตครูบาวงศ์ ชาวบ้านได้นำหินมาเรียงรอบเอาไว้ โดยถือเป็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเขตห้ามเข้าแท่นประดิษฐานรูป ๙ ครูบา อยู่ใกล้ๆกับองค์พระธาตุตรงจุดที่กำลังมีการก่อสร้างเป็นสี่เหลี่ยม บรรจุด้วยแผ่นทอง จะสร้างเป็นแท่น ๙ ครูบา โดยมีสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี หลวงปู่ทวด หลวงปูแหวน ครูบาศรีวิชัย ครูบาวงศ์

         ในส่วนทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนนั้นได้สร้างเป็นบันไดหินศิลาแลงสองข้างทางเป็นดินตามธรรมชาติ ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ซึ่งคาดว่าต่อไปคงจะมีการสร้างทางเดินปูหินศิลาแลงยาวตลอด ๕๐๐ เมตร ด้วย

  

การเดินทางมาเที่ยว: ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่ - ลำปาง ไปสามแยกป่าสัก ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน  ถึงสี่แยกหนองหล่ม มีป้ายบอกทางไปวัดพระธาตุทรายทอง และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกนี้ ตรงไปตามเส้นทางนี้ทางประมาณ  ๔ กิโลเมตร ผ่านไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ผ่านหน้าวัดพระธาตุทรายมูล ตลอดเส้นทางมีป้ายข้างทางรูปพระธาตุอินทร์แขวน ทางด้านซ้ายมือ ถึงทางเข้าพระธาตุอินทร์แขวน ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางถนนลูกรัง ไปตามป้ายบอกจนถึงลาน จอดรถจากนั้นเดินขึ้น ไปพระธาตุอินทร์แขวน

 

อ้างอิง

https://evergo.in.th /post/165/พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน-มหัศจรรย์หินซ้อน

12 กรกฎาคม 2560

รอยพระพุทธบาทดอยไซ,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th
        บ้านหนองไซ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านที่ติดกับภูเขา มีธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ใหญ่ มีผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ในอดีตมีการจารึกไว้ในหนังสือเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำพูน ว่าบริเวณภูเขาดอยไซ คือ ชุนหะบรรพต เป็นที่พำนักของฤาษีพุทธชฎิล พระอาจารย์ของเจ้าอนันตยศ พระราชบุตรของพระนางจามเทวี ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอย่างมากมาย คือ ซากปรักหักพัง อิฐมอญ ที่วางเรียงกัน เป็นฐานของโครงสร้าง ให้เห็นอยู่ทั่วบริเวณดอยไซ ได้มีนักวิชาการจากกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑ์สถานจังหวัด ลำพูน และผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานเข้ามาศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ และมีข้อสรุปว่า ณ สถานที่แห่งนี้ คือ ชุนหะบรรพต ตามเอกสารได้จารึกไว้ในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันบริเวณภูเขาดอยไซ เป็นภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของประชาชนในพื้นที่ มีพืชผักป่า ผลไม้ป่า หน่อไม้ มดแดง เห็ดถอบ เห็ดหอม (เห็ดหล่ม) เห็ดหลากหลายชนิด นำมาเป็นแหล่งอาหารและรายได้จากการหาของป่า

        สำหรับประวัติพระพุทธบาทดอยไซ สถานที่แห่งนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีหลักฐานจดบันทึกไว้แน่ชัด แต่ได้มีการขุดค้นพบซากปรักหักพัง พบกู่ฤาษีจำนวน ๑๐๘ ตน สมัยพระนางจามเทวีครองนครหริภุญชัย รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ขนาดกว้าง ๘๕ เซนติเมตร ยาว ๒๔๕ เซนติเมตร ลึก ๗๕ เซนติเมตร หันส้นพระบาทไปทางทิศตะวันออก ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่บนดอยไซ ตรงส้นพระพุทธบาทมีรูลึกเข้าไปในภูเขา ตามตำนานกล่าวว่า รูลึกนี้จะทะลุออกตรงกลางหนองน้ำ "หนองไซ" ซึ่งห่างออกไปประมาณ ๙๐๐ เมตร เคยมีคนทดลองเอาลูกมะนาวใส่ลงในรูแล้วไปโผล่ออกตรงกลาง "หนองน้ำหนองไซ" ได้ งานสรงน้ำรอยพระพุทธบาทดอยไซ ประเพณีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท แต่เดิมตรงกับเดือน ๙ เหนือขึ้น ๘ ค่ำ จัดมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน ผู้คนหลั่งไหลมาทุกสารทิศ เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาด้วยแรงศรัทธา ต่อมาได้เปลี่ยนมาเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ เหตุที่เปลี่ยนเพราะว่าฝนตกหนักเป็นอุปสรรคในการจัดงาน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเดือน ๘ เหนือ แรม ๑๕ ค่ำ มาจนปัจจุบัน


การเดินทางมาเที่ยว : การเดินทางไปรอยพระพุทธบาทดอยไซ เดินทางจากอำเภอเมืองลำพูน ใช้ทางหลวงสายลำพูน-ดอยติ เส้นทางหมายเลข ๑๑๔ แล้วแยกไปตามถนนอ้อมเมือง สายลำพูน-ป่าซาง ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร จึงเดินทางเข้าสู่ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งถนนภายในหมู่บ้านของตำบลป่าสักเป็นถนนคอนกรีตและลูกรัง

 

อ้างอิง

http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=313397&random=1418343504515

12 กรกฎาคม 2560

วัดดอยติ ประตูสู่เมืองลำพูน,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th

   

     

        จังหวัดลำพูน เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากมาย และเป็นเมืองนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา คือ ครูบาศรีวิชัย ซึ่งมีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่เชิงดอยติ บริเวณวัดดอยติ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๒ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ ๕ กิโลเมตร

        “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยใหญ่ที่สุด บนวัดดอยติลำพูน” ตั้งอยู่บนเส้นทางไฮเวย์ลำพูน - เชียงใหม่ ริมทางหลวง และถือเสมือนเป็นประตูเมืองของจังหวัดลำพูน ผู้ที่ขับรถสายนี้ผ่านไป - มา จะเห็นอนุสาวรีย์ พระรูปครูบาศรีวิชัย นั่งสมาธิ เด่นอยู่บนเนินยอดดอยวัดพระธาตุดอยติ อันนับได้ว่าเป็นพระรูปครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เคยเห็นมา

        ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๑ ที่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถึงปีนี้ครบ ๑๓๖ ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ชาวลำพูนและชาวล้านนาให้ความเคารพนับถือ ด้วยความเสื่อมใสศรัทธาและระลึกถึงพระคุณของท่าน ที่ได้เป็นผู้นำพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาในล้านนาให้มั่นคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่จัดพิธีพระราชทานเพลิงสรีระของท่าน ณ วัดจามเทวีแล้ว ได้จัดสร้างสถูปหรือกู่บรรจุอัฐิไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการบูชา โดยได้จัดประเพณีดำหัวกู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

        จังหวัดลำพูนได้จัดสร้างรูปปั้นครูบาศรีวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง ๑๘ เมตร ความสูง ๒๑ เมตร ประดิษฐานที่วัดดอยติริมถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑ เส้นทางลำพูน - เชียงใหม่ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งการก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ โดยการริเริ่มของ นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนขณะนั้น จึงได้จัดพิธีบรรจุหัวใจรูปปั้นครูบาศรีวิชัยขึ้น ประกอบพิธีมังคลาภิเษกเหรียญทองฝาบาตรครูบาศรีวิชัยจำนวน ๙๙,๙๙๙ เหรียญและหัวใจครูบาศรีวิชัย ประกอบพิธีบรรจุหัวใจครูบาศรีวิชัย โดยมีพระเกจิอาจารย์จากวัดต่างๆ หลายแห่งได้มาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล

         ในทุกๆปี พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง จะร่วมกันทำบุญสรงน้ำอนุสาวรีย์ ครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยจัดขึ้น ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่มีต่อชาวล้านนาและเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติประวัติของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดลำพูนให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปรู้จักมากยิ่งขึ้น










รวงผึ้งรังใหญ่มากมาทำรังตั้งแต่ปีแรกๆที่สร้างเสร็จ แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาเรื่อยๆ 



ตำนานพระเจ้ากิตติ



        พระประธาน "พระเจ้ากิตติ" มีลักษณะแปลก ต่างไปจากพระพุทธรูปที่เราเห็นทั่วไป คือสองพระกรซ้อนทับกันบนหน้าตัก สองพระบาทห้อยลงมาจากพระแท่นแก้ว มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล ความตอนหนึ่งจากประวัติกล่าวว่า "....ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเชิงดอยลูกนี้ ก็มาคิดในใจว่า ครั้งหนึ่งได้อนุญาตให้ชายมานพผู้หนึ่ง สร้างพระพุทธรูปแทนพระองค์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ได้ระลึกคิดยังคำนั้น ก็ได้เสด็จลีลาขึ้นไปยังบนดอยลูกนั้น เมื่อเสด็จเข้าไปในวิหาร ข้าพุทธเจ้าก็ได้เห็นพระพุทธรูปที่ชายมานพสร้างไว้ ฝ่ายพระพุทธรูปก็แลเห็นพระพุทธเจ้า ก็เหมือนดังมีจิตตะวิญญาณ มีใจสะท้านกลัว จึงจะลุกลงจากที่นั่งแท่นแก้ว แล้วได้เอาเท้าทั้งสองลงมา ส่วนมือทั้งสองยังไม่ทันได้คลาย ยังซ้อนกันอยู่เหมือนเดิม เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นดังนั้น จึงได้ยกมือเบื้องขวาห้ามเอาไว้ แล้วตรัสว่า ท่านอย่าไปไหนท่านจงอยู่ที่นี้ เพื่อจะได้รักษาสืบพระพุทธศาสนาต่อไป ตราบต่อเต่าห้าพันพระวัสสาแล ..." ฉะนั้นพระพุทธรูปจึงมีลักษณะ นั่งปล่อยขาทั้งสองข้างลงมา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายขวายังวางซ้อนกันอยู่บนแท่นแก้วในพระวิหารมาจะถึงปัจจุบันนี้ เรียกว่า พระเจ้ากิตติวัดดอยติ และหลังวิหารที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จจากเชิงดอยนั้น คณะศรัทธาได้สร้าง พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานไว้แทนพระองค์สืบมา



ประวัติความเป็นมา สุเทวฤาษี



        ประวัติความเป็นมา สุเทวฤาษี เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เมื่อ พ.ศ.๑๒๐๓ แล้วให้บุคคลหนึ่งนามว่า คะวะยะ พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐ คน ไปทูลเชิญพระนางจามเทวีผู้ทรงตั้งอยู่ในเบญจศีล ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) มาปกครองเมืองหริภุญชัยแทนตน ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติและไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก และยังได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาในนครหริภุญชัยอย่างมั่นคง ทำให้นครหริภุญชัยเจริญรุ่งเรืองมากในกาลสมัยนั้น อนุสาวรีย์สร้างเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ ความสำคัญต่อชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนชาวลำพูนทุกคน รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไป ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นการสร้างโดยใช้ปูนปั้นแบบง่ายๆ ตั้งอยู่บนเนินดินมีบันไดด้านหน้าอยู่ใต้ร่มไม้


การเดินทางมาเที่ยว: ที่ตั้งริมถนน ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ หมายเลข ๑๑ ช่วงเชียงใหม่ลำปางไม่ว่าจะมาทางเชียงใหม่หรือลำปาง ก็จะเห็นอนุสาวรีย์ฯแต่ไกล ถ้ามาทางลำปางก่อนถึงแยกดอยติประมาณ ๕๐๐ เมตร จะมีทางแยกซ้ายมือ หรือถ้ามาจากเชียงใหม่ให้ไปกลับรถแล้วกลับมาแล้วเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเลยทันที จะไปที่จอดรถชั้นล่าง นมัสการรูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัยองค์เดิม แล้วขึ้นกระเช้าไปบนวัดดอยติอีกที หรือพอแยกซ้ายจากถนนใหญ่แล้วขับอ้อมไปขึ้นหลังวัด ก็จะไปที่จอดรถในลานวัด


อ้างอิง

๑. http://www.banloktip.com/วัดดอยติ/

๒. http://www.go2days.net/วัดดอยติ-ประตูสู่เมืองลำพูน,2944.html

๓. https://sites.google.com/site/thabuy9wad3322/thabuy-kan-thexa/wad-dxy-ti-laphun

๔. http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=513311&random=1499066260812 

12 กรกฎาคม 2560

วัดพระธาตุทรายทอง,เทศบาลตำบลป่าสัก,pahsak.go.th


        วัดพระธาตุทรายทอง เดิมชื่อวัดดอยน้อย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๑๖ ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน บนพื้นที่ ๙๘ ไร่เศษ สภาพโดยรอบเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพซึ่งมีการปลูกป่ากันใหม่ เมื่อเลี้ยวเข้าไปจะเห็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรือนไม้เล็กๆกว่าสิบหลังอยู่ทางด้านซ้ายมือ วัดนี้ใช้เป็นที่อบรมวิปัสสนากรรมฐาน 

        ตามหนังสือประวัติวัดพระธาตุทรายทอง เล่าไว้ว่า ทางมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ประเทศอังกฤษ ได้หลักฐานชิ้นนี้มาจากประเทศอินเดีย กล่าวถึงประวัติวัดพระธาตุทรายทองว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยน้อยนี้เพื่อทรงโปรดชาวเม็ง ชาวยอง ที่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ พร้อมกับตรัสว่า ในอนาคตบริเวณนี้จะเป็นที่ดำรงพระพุทธศาสนาตลอด ๕ พันปี ชาวเม็งกับชาวยองพากันปลาบปลื้มใจมาก เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ จึงกราบทูลขอรอยพระพุทธบาท พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงประทับรอยพระหัตถ์และรอยพระบาทไว้บนหน้าผา ซึ่งเป็นแผ่นหินใหญ่หลังวัดพระธาตุทรายทองแห่งนี้ แล้วทรงไปตากผ้าจีวรที่วัดพระบาทตากผ้าอีกด้วย หลังจากทรงปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนะ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์ คือ ส่วนพระเศียร, ส่วนหน้าอก (พระอุระ), ส่วนนิ้ว (พระดรรชนี) รวมเป็น ๓ องค์ ขนาดองค์ละเท่าเมล็ดทรายทองใส่มาในบาตร โดยทางนภากาศมาลงบรรจุไว้ในพระธาตุแห่งนี้ ๑,๔๐๐ ปีต่อมา พระแม่เจ้าจามเทวี เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย เห็นว่าพระธาตุองค์เดิมยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงทรงสร้างเจดีย์ครอบองค์เก่าไว้ และประทับวัดนี้เมื่อครั้งบวชเป็นชี เมื่อพระนางสวรรคต วัดนี้ก็กลายเป็นวัดร้างถึง ๔๐๐ ปีมาแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านในชุมชนบ้านทรายทองเคยเห็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเป็นแสงสว่างหรือดวงแก้วขนาดเท่ามะพร้าว มีสีเขียวมรกตปนขาวลอยไปลอยมาบริเวณนั้นและมีแสงสว่างจ้าในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาฯลฯ งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยน้อยหรือพระธาตุทรายทอง มีขึ้นในเดือนมิถุนายน แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือของทุกปี


การเดินทางมาเที่ยว: การเดินทางไปวัดพระธาตุทรายทอง สามารถเข้าทางสามแยกดอยติ เลี้ยวเข้าไปทางสายตัวเมืองลำพูน และให้สังเกตป้ายชี้ทางสีน้ำเงินชี้ว่าให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านทรายทอง ซึ่งอยู่ด้านซ้ายของถนน แล้วต่อจากนั้นก็ตรงไปเรื่อยๆ เลยครับ วัดพระธาตุทรายทองจะอยู่ด้านซ้ายของถนนใหญ่

 

อ้างอิง

๑. http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=313398&random=1417917110156

๒. https://wichaipy9738.wordpress.com/2014/11/24/วัดพระธาตุทรายทอง-ลำพูน/

12 กรกฎาคม 2560

1

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 / 1  (6 รายการ)

สถิติการเข้าชม เริ่มวันที่ 1/01/2560
วันนี้
161
เมื่อวานนี้
314
เดือนนี้
5,813
เดือนที่แล้ว
8,889
ปีนี้
54,619
ปีที่แล้ว
60,130
ทั้งหมด
302,419
ไอพี ของคุณ
3.214.184.223
สถิติการเข้าชมเริ่มวันที่ วันนี้ เมื่อวานนี้ เดือนนี้ เดือนก่อน ปีนี้ ปีก่อน ทั้งหมด ไอพี ของคุณ
1/4/2019 161 314 5,813 8,889 54,619 60,130 302,419 3.214.184.223